วันพุธที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2554

ปอมปาดัวร์

discus1

ปลาปอมปาดัวร์ เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ปลาดิสคัส ซึ่งมีชื่อเสียงเรียงนามในทางวิทยาศาสตร์ว่า Symphysodon

ชื่อสามัญก็คือ Discus ปลาปอมปาดัวร์จะมีลักษณะรูปร่าง ทรงกลม ลำตัวแบน ลำตัวมีความกว้างมาก ครีบหลังและครีบท้องเรียงเป็นแถวยาวจนถึงโคนครีบหาง มีลวดหลายและสีสันที่หลากหลาย ต่างกันไปตามสายพันธุ์ ปลาปอมปาดัวร์เป็นที่นิยมของทั้งผู้เลี้ยงและนักเพาะพันธุ์ปลาสวยงาม เพราะเมื่อนิยมเลี้ยง ราคาของปลาก็จะดี

โดยธรรมชาติของปลาปอมปาดัวร์เลี้ยงค่อนข้างยาก ทำให้ผู้เลี้ยงมือใหม่ มักจะเลี้ยงไม่สำเร็จ ดังนั้นก็ที่จะทำการเลี้ยงปลาปอมปาดัวร์ควรศึกษาวิธีเลี้ยงให้ดีก่อน เพื่อที่ปลาจะได้ไม่ตาย โดยสิ่งที่ต้องคำนึงถึงอันดับแรกในการเลี้ยงปลาปอมปาดัวร์ก็คือ สถานที่ที่จะนำปลาปอมปาดัวร์มาเลี้ยง โดยจะประกอบไปด้วย

ตู้ปลา ในเรื่องของขนาดตู้ก็จะขึ้นอยู่กับจำนวนของปลา ยิ่งเลี้ยงปลาปอมปาดัวร์จำนวนมากก็ยิ่งต้องใช้ตู้ใหญ่ และในการตั้งตู้นั้นควรตั้งตู้ที่เลี้ยงปอมปาดัวร์ในสถานที่ที่ไม่พลุกพล่าน เนื่องจากปลาจะเครียดเพระาปลาปอมปาดัวร์ตกใจง่าย

ระบบกรองน้ำ ปลาปอมปาดัวร์ชอบอาศัยในน้ำสะอาด ระบบกรองน้ำจะช่วยในเรื่องของการบำบัดน้และลดความถี่ในการเปลี่ยนน้ำตู้ปลาลง

น้ำ จากที่เคยกล่าวมาแล้วว่าปลาปอมปาดัวร์ชอบน้ำสะอาด ก่อนที่จะนำน้ำมาเลี้ยงควรมีการพักน้ำไว้ก่อนเพื่อให้คลอรีนระเหยออกไป หรืออาจจะใส่หัวทรายลงไปในน้ำและนำน้ำไปแตกแดดเพื่อเร่งให้คลอรีนระเหยเร็วขึ้น ปลาปอมปาดัวร์เป็นปลาที่ต้องดูแลคุณภาพน้ำเป็นพิเศษ ถ้าคุณภาพน้ำไม่ดีปลาจะเครียด ทำให้สีคล้ำ ป่วยและเสียชีวิตได้ ค่าของน้ำที่เหมาะสมคือ pH 6.4-7.5 อุณหภูมิ 25-32 องศาเซลเซียส ถ่ายน้ำ 10-20 % ทุกวันหรือ วันเว้นวัน

อาหาร ให้ในปริมาณที่ปลาอิ่มโดยการสังเกตุดู อาจจะให้วันละ 2 ครั้ง ที่สำคัญคือ อย่าให้อาหารเหลือ เพราะจำทำให้น้ำเสียง่าย อาหารที่ใช้ในการเลี้ยงปลาปอมปาดัวร์ใช้ได้ทั้งอาหารสดและอาหารสำเร็จรูป

เมื่อเตรียมทุกอย่างพร้อมแล้วก็เซตระบบกรองโดย ใส่สิ่งต่างๆลงไปให้หมดจากนั้นนำปลาที่ทนๆมาเลี้ยงเพื่อให้ระบบกรองเซตตัว ซึ่งจะกินเวลาประมาณ 40 วัน แล้วจึ่งไปซื้อปลาปอมปาดัวร์มาเลี้ยง เมื่อซื้อปลามาแล้วก็ถุงที่ใส่ปลามาแช่ไว้ในน้ำประมาณ 30 นาทีแล้วจึ่งแกะถุงให้น้ำในตู้ไหลเข้ามาในถุง ปล่อยให้ปลาว่ายออกไปเอง(หลัง 30 นาที จะเทปลาลงไปเลยก็ได้แต่ค่อยๆให้ปลาออกไปเองดีกว่า)

discus4

การคัดเลือกพ่อ-แม่พันธุ์ การคัดเลือกพ่อ-แม่พันธุ์จัดได้ว่าเป็นสิ่งสำคัญประการแรกในการเพาะพันธุ์ปลาปอมปาดัวร์  ในการคัดเลือกควรคำนึงถึงสิ่งต่างๆ ดังต่อไปนี้

1. ไม่ควรเลือกซื้อปลาจากร้านปลาสวยงามทั่วๆ ไป  เนื่องจากปลาที่ซื้ออาจจะเป็นปลาที่แก่ไม่สามารถเพาะพันธุ์ได้แล้วหรือมีประสิทธิภาพในการเพาะพันธุ์ต่ำ  ซึ่งโดยมากจะเป็นปลาที่ฟาร์มเพาะพันธุ์ปลาปอมปาดัวร์คัดออกแล้วนำมาขายให้แก่ร้านปลาสวยงามทั่วไป  ควรเลือกซื้อจากฟาร์มเพาะพันธุ์ปอมปาดัวร์ที่ไว้ใจได้และได้มีการคัดเลือกสายพันธุ์แล้ว
2.  ปลาที่เป็นพ่อ-แม่พันธุ์ควรเป็นปลาที่ไม่ได้ผ่านการย้อมสีเพราะฮอร์โมนที่ใช้ในการย้อมจะมีผลกับระบบสืบพันธุ์
3.  ไม่ควรซื้อปลาขนาดใหญ่  เพราะไม่สามารถทราบถึงอายุที่แน่นอนและสุขภาพปลาได้  ควรซื้อปลาที่เรียกว่าขนาดเหรียญบาท  ซึ่งมีอายุประมาณ 1-2 เดือน  มาเลี้ยงเพื่อทราบถึงชีววิทยาปลา  แต่ไม่ควรซื้อปลาจากครอกเดียวกัน  หรือเลือกชนิดเพราะจะทำให้ประสิทธิภาพในการพันธุ์ต่ำ
4.  ลูกปลาที่ซื้อควรมีลักษณะกลมตั้งแต่จงอยปากถึงครีบหลังควรโค้งงอ  ไม่ลาดชันเป็นเส้นตรง  กระโดงครีบหลังสูงและไม่หักลู่  สีของลำตัวเป็นสีน้ำตาลอ่อนไม่ควรจะเป็นสีดำ  พยายามสังเกตดูลักษณะของปลาให้มีสุขภาพสมบูรณ์  ว่ายน้ำได้ว่องไว  ไม่ตกใจกลัวคน

discus2

วิธีเพาะพันธุ์ปลาปอมปาดัวร์ เมื่อพ่อ-แม่ปลาเจริญเติบโตพร้อมที่จะผสมพันธุ์และวางไข่  ให้นำโดมสำหรับปลาวางไข่มาใส่ไว้ในตู้เพื่อเป็นการฝึกไม่ให้ปลาวางไข่ที่อื่น  ซึ่งในการเพาะพันธุ์นี้ควรคำนึงถึงสิ่งสำคัญดังต่อไปนี้

1.  ตู้ปลา  ควรวางตู้ปลาชิดและขนานกับผนังห้องไม่ควรวางตู้ขวางออกมา  เพราะจะทำให้ปลาตกใจหรือตื่นคนง่าย  ตู้ที่นิยมทำการเพาะเลี้ยงจะมีขนาด  30 x 20 x 20  นิ้ว  โดยทาสีฟ้าหรือสีเขียวอ่อน  3  ด้าน
2.  แสงสว่าง  ในขณะทำการเพาะไม่ควรให้แสงสว่างมาก ควรให้แสงสว่างแต่พอควร  และในบริเวณที่เพาะไม่ควรมีคนพลุกพล่านนอกจากผู้ทำการเพาะเลี้ยง  ควรระมัดระวังเกี่ยวกับคนเดินผ่านตู้เพาะ
3.  ห้องเพาะพันธุ์ปลา  ควรจะเป็นห้องที่แยกออกจากห้องเลี้ยงปลา  เพราะแสงสว่างและช่วงเวลาการเปลี่ยนน้ำมักไม่ตรงกันจะทำให้เป็นการรบกวนปลา  การวางโดมควรจะวางคนละมุมกับหัวพ่นฟองอากาศเพื่อป้องกันปลาตกใจและวางโดมให้ชิดผนังตู้ด้านหนึ่ง  เพื่อป้องกันมิให้ปลาติดหลังโดมทำให้ปลาตกใจได้

ในระหว่างการเพาะพันธุ์  ตัวเมียจะเห็นส่วนท้องอูมชัดเจน  ก่อนปลาวางไข่ 3-4 วัน  ปลาจะมีอาการสั่นทั้งตัวผู้และตัวเมีย  ในวันที่ปลาวางไข่จะสามารถสังเกตได้โดยดูอาการทั้งตัวผู้และตัวเมีย  จะไม่ยอมออกห่างจากโดมและช่วยกันแทะเล็มโดมเพื่อทำความสะอาดตลอดเวลา  จากนั้นตัวเมียจะวางไข่บนโดมครั้งละ 15-30 ฟอง  แล้วตัวผู้จะปล่อยน้ำเชื้อลงบนไข่  แม่ปลาจะใช้เวลาในการวางไข่ประมาณ 2 ชั่วโมง  วางไข่  100-300  ฟอง  ไข่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 1 มม.  ไข่จะมีสีเทาอมเหลือง  ในบางครั้งไข่อาจจะมีสีเหลืองอมแดง  เนื่องจากปลาปอมปาดัวร์ในประเทศไทยเลี้ยงด้วยไข่กุ้งทำให้มีผลต่อสีของไข่  หลังจากปลาผสมพันธุ์และวางไข่แล้วจึงใส่ยาปฏิชีวนะได้  Tetracyclin  อัตราส่วน 2 เม็ด  ต่อ 1 ตู้  ในระยะนี้ตัวผู้และตัวเมียจะว่ายวนเวียนโบกพัดน้ำไปยังไข่เพื่อเพิ่มปริมาณออกซิเจนและไม่ให้สิ่งสกปรกตกลงบนไข่ จากนั้นนำตะแกรงตาถี่ขนาดช่องตาครึ่งเซนติเมตรมาครอบลงบนโดม  ให้มีระยะห่างระหว่างโดมและตะแกรงประมาณ  2-3  เซนติเมตร  เพื่อป้องกันปลาย้ายไข่  หรือถ้าปลาตกใจอาจจะกินไข่ได้  พร้อมกับนำตะแกรงขนาดช่องตา 1 นิ้ว  กั้นแยกตัวผู้ออกจากตัวเมีย  ซึ่งถ้าปลาวางไข่อีกจะกินไข่ที่วางไว้ก่อนแล้ว  ทั้งยังป้องกันการกัดกันเพราะแย่งกันเลี้ยงลูก  การแยกกันนี้จะต้องแยกให้ตัวเมียอยู่ใกล้กับไข่  เพราะจะทำให้ทั้งตัวผู้และตัวเมียสามารถมองเห็นไข่ที่วางติดโดมไว้ได้  เพื่อจะได้ไม่กินลูกปลา

discus3

วิธีอนุบาลลูกปลาปอมปาดัวร์

หลังจากแม่ปลาวางไข่ 3 วัน  ลูกปลาจะฟักเป็นตัวแต่จะยังอยู่ในบริเวณเปลือกไข่  จะเห็นส่วนหางเต้นไปมา  ส่วนหัวจะเป็นจุดสีดำในระยะนี้  ลูกปลาจะไม่กินอาหารเพราะมีถุงไข่อยู่บริเวณท้อง  หลังจากนั้นอีก 3 วัน  คือวันที่ 6 หลังจากปลาวางไข่  ลูกปลาจะเริ่มว่ายน้ำมาเกาะเพื่อกินเมือกบริเวณลำตัวพ่อแม่ปลา  สีของลำตัวพ่อแม่ปลาจะเริ่มเปลี่ยนเป็นสีเข้มขึ้นจนเกือบดำ  พ่อแม่ปลาจะพยายามอมลูกปลาแล้วพ่นไปที่โดม  ระยะนี้เป็นระยะที่สำคัญมาก  ถ้าพ่อแม่ปลาตกใจจะกินลูกปลาเข้าไปเลย  และควรระมัดระวังการให้อาหารพ่อแม่ปลา  อย่าให้อาหารมากเพราะจะทำให้น้ำเสีย  เนื่องจากจะไม่มีการเปลี่ยนน้ำในระยะนี้  ในวันที่ 7 มีการถ่ายน้ำพร้อมทั้งดูดสิ่งสกปรก ตะกอนออก   ควรระมัดระวังลูกปลาจะติดไปด้วย  เวลาดูดตะกอนให้เหลือน้ำอยู่ประมาณครึ่งตู้เท่านั้น  ในวันที่ 8 ก้อค่อยๆ ดูดตะกอนและเริ่มเติมน้ำ  โดยใช้สายยางเล็กๆ เหมือนกับการให้น้ำเกลือเพื่อให้มีการเปลี่ยนแปลงน้อยที่สุด  โดยถ้าถ่ายน้ำออกตอนเช้าจะต้องเติมน้ำโดยใช้เวลา  8-10 ซม.  จึงจะได้ระดับครึ่งตู้เท่ากับเมื่อวันที่ 7  และเปลี่ยนน้ำเช่นนี้ทุกวัน  ในวันที่  13  ลูกปลาเริ่มว่ายน้ำไปมาอย่างอิสระบ้าง  แต่ยังกินเมือกของพ่อแม่ปลาเป็นอาหารอยู่  สามารถให้อาหารเสริมได้  คือ  อาร์ทีเมียที่เพาะใหม่ๆ  หรือลูกไรแดง  การแยกลูกไรแดงออกจากไรแดงตัวโตสามารถทำได้โดยใช้กระชอนตาถี่ๆ ที่ลูกไรสามารถลอดออกมาได้  ไปช้อนไรแดงแล้วแกว่งในกะละมังที่มีน้ำอยู่  ลูกไรแดงจะหลุดออกมาอยู่ในกะละมัง  แต่ไรแดงตัวโตจะไม่สามารถลอดออกมาได้  จากนั้นจึงใช้กระชอนตาถี่ที่เล็กกว่าขนาดของลูกไรแดงไปช้อนมาอีกที  ก็จะได้แต่เฉพาะลูกไรแดงขึ้นมา  การให้ลูกไรแดงควรระมัดระวังไรชนิดหนึ่ง(ไรหิน)  ซึ่งมีลักษณะคล้ายไรแดงแต่มีเปลือกแข็ง  คล้ายแมลงเปลือกแข็ง  ถ้าลูกปลากินเข้าไปอาจตายได้  ในวันที่ 17 สามารถแยกแม่ปลาออกจากลูกปลาได้ในระยะนี้  และระยะนี้ซึ่งเรียกว่าระยะแกะออกจากแม่หรือขนาดเม็ดแตงโมสามาถนำลูกปลาไปขายได้ในราคาตัวละ 7-8 บาท  หรือจะเลี้ยงต่อไปจนอายุ 1 เดือน  จนถึงขนาดเหรียญบาทซึ่งมีราคาตัวละ 20-30 บาท  ทั้งนี้แล้วแต่ความต้องการของตลาด  ในระยะนี้ควรหัดให้ลูกปลากินไข่กุ้งเพื่อเป็นการเร่งสี  ซึ่งจะทำให้ปลามีสีแดงขึ้นและขายได้ง่ายขึ้น  พ่อแม่ปลาที่แยกออกจากลูกปลาในระยะที่ลูกปลามีอายุ 17 วันนั้นจะผสมพันธุ์วางไข่ได้อีก  โดยใช้เวลาพักตัวประมาณ 1 อาทิตย์ในระยะพักตัวนี้  ควรให้อาหารเสริมจำพวกวิตามิน E, K  หรือวิตามินรวม  เนื่องจากในระยะเลี้ยงลูกปลา  เราต้องในยาปฏิชีวนะตลอดเวลาเพื่อป้องกันโรคทำให้ปลาขาดวิตามิน E, K ซึ่งอาจทำให้ปลาตัวผู้มีโอกาสเป็นหมันและตัวเมียเป็นหมันชั่วคราวได้  โดยใส่วิตามิน E, K หรือวิตามินรวมลงไปในอาหารและแช่ทิ้งไว้ก่อนให้ประมาณ 20 นาที
           ในบางครั้งเมื่อเพาะปลาจะประสบกับปัญหาไข่เสียไม่ฟักเป็นตัว  ซึ่งมีสาเหตุอาจเนื่องมาจากตัวผู้มีน้ำเชื้อไม่ดี  เพราะเพาะพันธุ์ถี่เกินไปหรือเพราะน้ำมีคลอรีน  ผู้เพาะเลี้ยงปลาบางรายจึงมีปลาตัวผู้หลายตัวไว้สับเปลี่ยนกัน  แต่ถ้าสับเปลี่ยนตัวผู้แล้วไข่ยังเสียติดต่อกัน 4-5 ครั้ง  หรือเมื่อวางไข่แล้วไข่หลุดออกจากโดม  ก็ควรพักพ่อแม่ปลาอย่างน้อย  1 เดือน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น